โยนิโสมนสิการ


โยนิโสมนสิการ

ชีวิตประกอบด้วยกายกับจิต(นามกับรูป) กายจะดำรงคงอยู่ได้ก็ด้วยปัจจัย ๔ อันได้แก่ อากาศและอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เมื่อกายได้รับอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจิตก็สุขสบาย แต่ด้วยกิเลส ตัณหา ความต้องการทะยานอยากอันไม่มีที่สิ้นสุดส่งผลให้ความต้องการทะยานอยากของมนุษย์นั้นยกระดับขึ้นจากความต้องการแบบหยาบๆสู่ความต้องการที่สูงขึ้น ละเอียดขึ้น คือ ต้องการอากาศบริสุทธิ์หายใจ ต้องการอาหารอันโอชะในภัตตาคารเลิศหรู กินทั้งทีก็ให้อิ่มหมีพีมัน พุงกางกันไป ที่อยู่อาศัยจากถ้ำโพรงก็กลายเป็นกระต๊อบ บ้าน และคฤหาสน์ใหญ่โต เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ต้องเป็นผ้าเนื้อดี สินค้าแบรนด์ดัง มีรถหรูขับ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เอาแล้วยาสมุนไพรที่ทั้งเหม็นฉุน ขมฝาด หายช้า ขอนอนพักรักษาตัวสบายๆในโรงพยาบาลเอกชน กินยาฝรั่งแพงๆ คุณภาพดี เม็ดเดียวหาย นี่เรียกว่าอาหารของใจ ที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ความต้องการทะยานอยากเยอะแยะมากมาย ไม่มีที่สิ้นสุด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต ไม่ป่วยกาย ก็ป่วยใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติศาสนาพุทธขึ้นก็เพื่อแก้ไขปัญหา ดับทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยหลักธรรมที่เรียกว่า “อริยสัจ ๔” ซึ่งประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ คือ การพิจารณาตัวสภาพของปัญหา

สมุทัย คือ การพิจารณาให้เห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานั้นๆ

นิโรธ คือ การพิจารณาหาหนทางแก้ไขปัญหา ผลย่อมมีมาแต่เหตุ ระงับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ก็สามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นได้

มรรค คือ การลงมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการควบคุมตัวแปร ๘ ประการ คือ ต้องมีมุมมองที่ถูกต้อง(สัมมาทิฏฐิ) มีความคิดที่ถูกต้อง(สัมมาสังกัปปะ) พูดความจริง(สัมมาวาจา) ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม(สัมมากัมมันตะ) ประกอบอาชีพสุจริต(สัมมาอาชีวะ) มีความเพียร ความพยายามที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ไม่คด ไม่โกง ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร(สัมมาวายามะ)  มีสติเป็นเครื่องกำกับ(สัมมาสติ) มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ทำ(สัมมาสมาธิ) นั่นคือมีศีล สมาธิ ปัญญาครบองค์นั่นเอง

ศีล คือ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะ ควร เคารพกฎกติกาอันดีงาม

สมาธิ คือ มีความพากเพียรพยายามที่มากพอ มีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนทำ

ปัญญา คือ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าจะต้องทำอะไร แบบไหน อย่างไร รู้ว่าจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่นิ่ง ไม่คงทน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาโดยคำนึงถึงกฎกติกา ความถูกต้อง เหมาะ ควรเป็นเครื่องประกอบ

สติมีปัญญามา

“สติมี ปัญญามา” เมื่อมีสติรู้ตัวก็ตามมาด้วยปัญญารู้คิด รู้ว่าตนเองในปัจจุบันขณะนั้นเป็นอย่างไร สุขหรือทุกข์หรือนิ่งๆเฉยๆกับสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเป็นไป

เมื่อมีสติรู้ตัวก็ตามมาด้วยปัญญารู้คิด รู้ว่าปัจจุบันขณะนั้นเป็นอย่างไร รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้นมีความเป็นมา เป็นไปอย่างไร รู้ความต้องการทะยานอยากในสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเป็นไปว่าเราคิดว่ามันจะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน ตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ ปรารถนาให้มันเป็นไป เรามีความสุขหรือทุกข์หรือเฉยๆกับสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น กำลังจะเป็นไป

เมื่อมีสติรู้ตัวก็ตามมาด้วยปัญญารู้คิดว่าเราจะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น กำลังจะเป็นไปนี้อย่างไร หากเราคิดดี ทำถูกต้อง มีความเพียรพยายามมากพอ สิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นก็จะดำเนินไปในทิศทางที่เราต้องการมุ่งหมาย แต่หากเรามีมุมมองความคิดที่ผิดพลาด ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือมีความเพียรพยายามที่ไม่เพียงพอย่อมล้มเหลว สิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นย่อมไม่เป็นไปดั่งใจนึกหวังเพราะก้าวเดินผิดพลาด หรือเผชิญกับปัญหาอุปสรรคนานาประการเพราะสังคม คนรอบข้างไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน หรือพยายามสกัดขัดขวาง ไม่ต้องการให้ความพยายามของเรานั้นประสบผลสำเร็จด้วยเหตุผลต่างๆ

สติจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ สามารถพัฒนาฝึกฝนได้ด้วยระบบที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน ๔” โดยเริ่มต้นที่การดูกาย กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก แล้วพิจารณาว่าการหายใจเข้าออกนั้นเป็นแบบไหน อย่างไร สั้นหรือยาว หนักหรือเบา ละเอียดหรือหยาบ ลมที่เราหายใจเข้าไปนั้นผ่านไปถึงจุดไหน สิ้นสุดที่ตรงไหน แล้วไหลเวียนออกมาอย่างไร ไปถึงจุดไหนแล้ว

การฝึกสติให้มีจิตจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก(สมาธิ) อาศัยการภาวนาเป็นเครื่องช่วย เช่น ภาวนาว่า “พุท-โธ” หรือ “ยุบหนอ-พองหนอ” เป็นต้น

เมื่อสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ รู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก รู้ว่าลมหายใจนั้นสั้นหรือยาว  หนักหรือเบา ละเอียดหรือหยาบ ก็จะมองเห็นเวทนาว่าขณะที่เราหายใจเข้าหรือออกนั้น ลมหายใจสั้นยาว หนักเบา ละเอียดหยาบนั้นส่งผลต่อกายใจของเราอย่างไร สบายๆหรืออึดอัด หงุดหงิดด้วยเหตุผลกลใด เมื่อเราเปลี่ยนลมหายใจจากสั้นเป็นยาว จากหนักเป็นเบา จากละเอียดเป็นหยาบแล้ว จะส่งผลเวทนา “สุข/ทุกข์” อย่างไร นี่เรียกว่าเห็นเวทนาในเวทนา

เมื่อจิตจดจ่อกับลมหายใจ เห็นเวทนาในเวทนาสุขทุกข์ ร้อนหนาว ปวดเมื่อยแล้วก็มองต่อไปให้เห็นว่ากายนั้นประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ลม ไฟ น้ำ ดิน แยกธาตุแยกขันธ์ว่ากายนี้มี “ลม” หายใจผ่านเข้าผ่านออก รู้ร้อนรู้หนาว(ไฟ) มีเหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก น้ำเหลือง น้ำหนอง(น้ำ) มีแขน มีขากดทับจนปวดเมื่อย เป็นเหน็บ เป็นตะคริว เห็นจิตที่ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ โลดแล่นไปเรื่อยเปื่อย คือ เห็นจิตในจิต

ดึงจิตกลับมาพิจารณาตัวทุกข์ที่เกิดขึ้น ปวดเมื่อย ร้อนหนาว พิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เกิดดับตลอดเวลา คือ เห็นธรรมในธรรม เห็นซึ้งซึ่งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นซึ้งซึ่งเหตุปัจจัยภายใน/ภายนอก เหตุปัจจัยบางอย่างควบคุม/เปลี่ยนแปลงได้ เหตุปัจจัยบางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุม ได้แต่ปลงวาง ปล่อยให้มันเป็นไป เกิดปัญญารู้ซึ้งซึ่งธรรมสภาวะ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าควรวางกาย วางจิต วางตนอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมสภาวะ ความเป็นไปของโลกที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เมื่อจิตได้รับการฝึกฝนอบรมเพาะบ่มจนเคยคุ้นแล้วก็ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คือ มีสติรู้ตัวตลอดเวลาทั้งเวลากิน เดิน นั่ง นอน ยืน ดังนั้นจึงมีปัญญารู้คิด สะสมเพาะบ่มกลายเป็นประสบการณ์ชีวิต รู้ว่าการกิน เดิน นั่ง นอน ยืนนั้นส่งผลต่อชีวิตคือกายและจิตอย่างไร แค่ไหนจึงเรียกว่าพอเหมาะ พอดี พอประมาณ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีวินัย มีวุฒิภาวะ เปี่ยมด้วยประสบการณ์เพราะมีตนเป็นครู เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้โลกอยู่ตลอดเวลาทุกห้วงขณะจิต

เมื่อมีสติรู้ตัว มีปัญญารู้คิด จึงเกิดการเรียนรู้ เพาะบ่มเป็นประสบการณ์ชีวิตว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะควร ไม่ทำให้เกิดปัญหา หรือสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้(สัมมาทิฏฐิ) อะไรคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไม่ควรคิด ไม่ควรทำ นำมาซึ่งปัญหา แก้ไขปัญหาไม่ได้(มิจฉาทิฏฐิ) พึงสังวร พึงระวัง ต้องหลีกเลี่ยง ต้องหลีกหนีจากสิ่งที่เป็นอบายทั้งหลายเหล่านี้ไปให้ห่าง

การศึกษาเรียนรู้ เพาะบ่ม สร้างสมเป็นประสบการณ์ชีวิตนี้เกิดขึ้นได้ใน ๒ ลักษณะ คือ (๑) การเรียนรู้โดยตรงจากประสบการณ์ชีวิตจริงของตนเอง เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” และ (๒) การเรียนรู้โดยอ้อมจากประสบการณ์ชีวิต องค์ความรู้ที่ผู้อื่นนำมาถ่ายทอด บอก สอนต่อๆกันมา เรียกว่า “ปรโตโฆสะ”

องค์ความรู้ที่ว่านั้นก็คือตัวศีล สมาธิ และปัญญาว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นนั้นมีอะไรเป็นเหตุปัจจัย มีอะไรเป็นเงื่อนไข ตัวแปร ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะต้องทำอะไร แบบไหน อย่างไร มีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องดูแล ควบคุม จึงจะได้ผลลัพธ์ดั่งที่ใจต้องการ

วิชชากับอวิชชา

องค์ความรู้ที่ถูกต้องนั้น เรียกว่า “วิชชา” ส่วนองค์ความรู้ที่ผิดพลาด ไม่ถูกต้องครบถ้วน แก้ไขปัญหาใดๆไม่ได้ ไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ดั่งที่ใจต้องการ เรียกว่า “อวิชชา”

การนำองค์ความรู้มาปรับประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง ได้ผลดีอย่างที่ใจต้องการนั่นเป็นเพราะว่าศีล สมาธิ และปัญญาถึงพร้อม

หากความเพียรนั้นได้ผลไม่เต็มที่นั่นย่อมเป็นผลมาจากศีล สมาธิ และปัญญาที่ยังไม่ถึงพร้อม มีบางส่วนที่ยังขาดพร่องไป

หากความเพียรนั้นล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แสดงว่าองค์ความรู้นั้นยังไม่ถูกต้อง เป็นเพียงอวิชชา เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจาก “ศรัทธา” ความมัวเมาลุ่มหลง ไม่ใช่ปัญญา จึงนำมาใช้แล้วไม่ได้ แก้ไขปัญหาไม่ได้ ผู้ใดยึดมั่นถือมั่น หลงจมอยู่กับอวิชชาที่เกิดจากศรัทธา ความมัวเมาลุ่มหลง ผู้นั้นย่อมพบพานกับความผิดหวังล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้ใดสามารถนำพาตนเองหลุดพ้นไปจากศรัทธาในอวิชชา ความมัวเมาลุ่มหลงในลัทธิ ความเชื่อแบบผิดๆพบเจอกับวิชชา องค์ความรู้ที่ถูกต้องมีความเพียรถึงพร้อม มีปัญญาเป็นเครื่องกำกับ ย่อมสลัดหลุดพ้นไปจากความผิดหวังล้มเหลว พบเจอกับความสำเร็จได้ในท้ายที่สุด

“ปรโตโฆสะ – คำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่น” และ “โยนิโสมนสิการ – การรู้จักคิดพิเคราะห์ด้วยตัวเอง” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และเรียนรู้ความเป็นไปของโลก หากแนวคิดทฤษฎีที่ครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ญาติมิตรเพื่อนฝูง “กัลยาณมิตร” แนะนำ สั่งสอน บอกกล่าวมาเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะควร ผู้ฟัง ผู้ศึกษาก็มีวิจารณญาณที่ดีพอก็จะเกิดเป็น “สัมมาทิฏฐิ – แนวทางความคิดที่ถูกต้อง เหมาะควร” เมื่อประกอบด้วยความเพียรที่เพียงพอและการปรับประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นไปความสำเร็จในกิจการงานต่างๆก็เกิดขึ้นได้ดั่งใจนึกหวัง

อคติ

ความต้องการทะยานอยากคือแรงขับเคลื่อน ผลักดันชีวิตให้ก้าวเดินไป กินขี้ปี้นอนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของวิถีปุถุชน รายละเอียดของกิเลสตัณหา ความต้องการทะยานอยากของคนแต่ละคนนั้นแตกต่างไปตามจริตของคนแต่ละคน ส่งผลให้เกิดวิถี แนวทางการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน ปัญหาชีวิตและวิธีที่แต่ละคนใช้ในการแก้ไขปัญหาชีวิตจึงอาจผิดแผกแตกต่างกันไป จริตคือผู้กำหนดชะตากรรมตัวจริงว่าชีวิตของคนแต่ละคนจะต้องประสบพบเจอกับอะไรบ้าง จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็เพราะจริต ความรักชอบชัง มุมมองความคิด ความถนัด ความเพียร พฤติกรรมตอบสนองต่อโลก “สิ่งเร้า” ของคนแต่ละคนนั่นเอง ในสถานการณ์แบบเดิมๆ เงื่อนไข สภาวการณ์แบบเดิมๆ คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ความเพียรเท่าเดิม เคยประสบผลรับอย่างไรก็ย่อมได้รับผลลัพธ์แบบเดิมนั้นนั่นเอง

ดังนั้น ท่ามกลางสภาวการณ์เดียวกัน คนแต่ละคนจึงอาจประสบผลรับที่แตกต่างกันเพราะมีอคติ ความรักชอบชัง มีมุมมองความคิด มีการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน บางคนตอบสนองต่อเหตุการณ์ความเป็นไปต่างๆด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ชีวิตย่อมวิ่งวุ่นไปตามกิเลส ความต้องการทะยานอยาก บางคนมีสติเป็นเครื่องกำกับ รับมือกับสิ่งต่างๆด้วยปัญญา ชีวิตย่อมสงบราบเรียบมากกว่า การดำเนินชีวิตและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตก็เช่นกัน คนที่ดำเนินชีวิตและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยศรัทธา ยึดติดกับตำรา ความเชื่อ ไม่เปิดตาเปิดใจรับรู้ว่าศรัทธา ความเชื่อนั้นถูกต้อง ครบถ้วน เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์หรือไม่ ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้น้อยกว่าคนที่ดำเนินชีวิตและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยปัญญา รู้จักเลือกเฟ้น กลั่นกรองว่าศรัทธา ความเชื่อ ความรู้ใดเป็นศรัทธา ความเชื่อ ความรู้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน รู้ว่าควรนำมาปฏิบัติปรับใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่ขอเพียงมีความเพียรถึงพร้อม มีจิตที่จดจ่อ มุ่งมั่น เอาจริงกับสิ่งที่ทำก็จะประสบความสำเร็จได้ด้วยศีล สมาธิ และปัญญาที่ถึงพร้อมนั้น (อิทธิบาท ๔ : ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)

[๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนการใส่ใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจโดยแยบคายกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ

[๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น เพื่อความไม่เสื่อมสูญ เพื่อความไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม เหมือนการใส่ใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุงหลาย การใส่ใจโดยแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น เพื่อความไม่เสื่อมสูญ เพื่อความไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม ฯ

[๑๕๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.

[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่าง
ไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัย
วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ
อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดย
แยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคอันประกอบ
ด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.

สํ.ม. 19/136-137/34, 154-155/41
องฺ.เอก. 20/68/15, 124/24;
ขุ.อิติ. 25/194/236

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”

“โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%E2%C2%B9%D4%E2%CA%C1%B9%CA%D4%A1%D2%C3&original=1

วิธีทำใจโดยแยบคาย

การทำใจโดยแยบคายมี ๔ วิธี คือ อุบายมนสิการ-คิดเพื่อเฟ้นหาความจริง ปถมนสิการ-คิดอย่างมีระบบระเบียบ การณมนสิการ-คิดสืบสาวที่มาที่ไป และอุปปาทกมนสิการ-คิดถึงผลดีร้าย

อุบายมนสิการ – คิดเพื่อเฟ้นหาความจริง คือ การคิดอย่างมีวิธีหรือถูกวิธี ซึ่งหมายถึง การเข้าถึงความจริง สอดคล้องกับแนวสัจจะ ซึ่งทำให้รู้สภาวะลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย

ปถมนสิการ – คิดอย่างมีระบบระเบียบ คือ การคิดอย่างมีระบบ ระเบียบ ตามหลักเหตุผล ไม่ยุ่งเหยิงสับสน มีจิตจดจ่อ ไม่ฟุ้งซ่านเดี๋ยวคิดเรื่องนั้น แล้วโดดมาเรื่องนี้ มีสมาธิมากพอที่จะนำพาความนึกคิดไปสู้แนวทางที่ถูกต้องได้

การณมนสิการ – คิดสืบสาวที่มาที่ไป คือ การคิดอย่างมีเหตุผล สืบสาวค้นหาสาเหตุ ความเป็นมาเป็นไปจนเห็นถึงลำดับความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อเนื่องกันมา

อุปปาทกมนสิการ – คิดถึงผลดีร้าย คือ การคิดพิจารณาให้เกิดกุศลธรรม เช่น การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น

โยนิโสมนสิการ – การคิด/ทำใจโดยแยบคายจึงเป็นที่มาของปัญญา นำมาซึ่งองค์ความรู้ ความเข้าใจในสภาพปัญหา มองเห็นสาเหตุ และแนวทางที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหา ถ้าปัญญาความรู้นั้นถูกต้องก็เป็นสัมมาทิฏฐิที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้สำเร็จ หากปัญญาความรู้นั้นยังไม่ใช่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องก็เป็นเพียงแค่ศรัทธา ความเชื่อของผู้คิด ผู้มีปัญญาเท่านั้น ไม่สามารถนำมาปฏิบัติปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้

การคิดพิจารณาแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

การคิดพิจารณาแบบสืบสาวเหตุปัจจัย หรือ วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ การตั้งต้นความคิดจากจุดใดจุดหนึ่งของกระแสความเป็นไป แล้วคิดพิจารณาต่อไปตามลำดับจนเห็นบทสรุปสุดท้ายว่าจะลงเอยกันอย่างไร หรือสืบย้อนลำดับกลับไปหาจุดเริ่มต้นของสิงต่างๆที่เกิดขึ้น

การคิดพิจารณาแยกแยะส่วนประกอบ

คือ การพิจารณาแยกแยะส่วนประกอบของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง มองให้เห็นถึงการพึ่งพิงอาศัยกันขององค์ประกอบต่างๆ มองให้เห็นถึงการเกิดดับ ความไม่เที่ยงแท้ขององค์ ประกอบต่างๆที่แอบอิงอาศัยกันอยู่ เหตุปัจจัยต่างๆ

การคิดพิจารณาแบบสามัญลักษณ์

การคิดพิจารณาแบบสามัญลักษณ์ หรือ การคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองโลกอย่างคนที่รู้ทันโลก มองให้เห็นถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของทุกสรรพสิ่ง จึงทำใจยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่ว่านั้น ดังนั้น จึงคลายความทุกข์ลงไปได้เพราะสลัดความเศร้าโศกเสียใจ คลายความยึดมั่นถือมั่น ความต้องการทะยานอยากให้ลดน้อยเสื่อมถอยลงไปได้ เมื่อรู้ว่าสิ่งต่างๆล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งต่างๆนั้นเกิดจากการประชุมรวมกันขององค์ประกอบต่างๆ แล้วดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด เงื่อนไขเปลี่ยนไป ผลรับที่เกิดขึ้นตามมาก็จะเปลี่ยนแปรไปตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปนั้น

การคิดพิจารณาแบบแก้ปัญหา

คือ การคิดพิจารณาแบบทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อให้เห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดผลรับแบบต่างๆ หากต้องการให้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลง เป็นไป ดำเนินไปในทิศทางไหนอย่างไรก็ต้องจัดการองค์ประกอบต่างๆให้ดำเนินไปในวิถีที่สอดคล้องกับผลรับที่ต้องการ ปรารถนา จะสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการทะยานอยาก ย่อมสุดแท้แต่เหตุปัจจัยเป็นสำคัญ

การคิดพิจารณาแบบอรรถธรรมสัมพันธ์

คือ การทำความเข้าใจให้รู้ซึ้งถึงหลักการของข้อปฏิบัติต่างๆว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร เพื่อให้เกิดธรรมานุธรรมปฏิบัติ คือ การปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ เพื่อให้การลงมือปฏิบัติสามารถบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงได้ ตามหลักการที่ว่า “ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ” กล่าวคือ ศีลนั้นเป็นกระบวนการหนึ่งของการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ไม่ต้องไปแบก ไม่ต้องไปถือเพราะจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เข้มงวด บีบรัดตนเองจนผิดวิสัยที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “ปฏิปทาเหี้ยมเกรียม” การถือสมาธิเป็นจุดหมายปลายทางก็จะทำให้หลงในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไปไม่ถึงนิพพาน ส่วนการถือปัญญาเป็นจุดมุ่งหมายก็จะทำให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆเยอะแยะมากมายที่ได้เพียงแค่รู้แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด

การคิดพิจารณาให้เห็นคุณโทษและทางออก

คือ การพิจารณาให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสีย และทางออกที่เหมาะสมของสิ่งต่างๆ

การคิดพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าแท้-เทียม

คือ การพิจารณาเกี่ยวกับประโยชน์การใช้สอยหรือการบริโภคเพื่อสกัด บรรเทาตัณหา

คุณค่าแท้ คือ ประโยชน์ที่แท้จริงของการอุปโภคของบริโภค

คุณค่าเทียม คือ ส่วนที่เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความต้องการทะยานอยากซึ่งเพิ่มเสริมเติมมา เช่น

[๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วยจะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เราฉะนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกออกเร้นอยู่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ.

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=238&Z=384

การคิดพิจารณาแบบเร้ากุศล

คือ การมองให้เห็นอีกด้านของเรื่องราวเลวร้ายต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิต เช่น แทนที่จะสลดหดหู่กับความตาย ความพลัดพรากที่เกิดขึ้น ก็มีสติ มองเห็นความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ธรรมชาติของชีวิตที่จะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จึงไม่ควรท้อแท้ทอดอาลัย ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด มุ่งไปที่การกำจัดนิวรณ์ ๕ ได้แก่ (๑) กามฉันทะ – ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่ (๒) พยาบาท – ความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่ (๓) ถีนมิทธะ – ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม (๔) อุทธัจจะกุกกุจจะ – ความคิดซัดส่าย ตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ และ (๕) วิจิกิจฉา – ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ ให้สิ้นไปด้วยความเพียรในทาน ศีล ภาวนา ละความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา – ตัวกู ของกู ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท สร้างสรรค์คุณงามความดี มีคุณธรรมเมตตาในจิตใจ อย่ามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความรัก โลภ โกรธ หลงให้มาปิดหู ปิดตา ปิดใจ บั่นทอนทำลายชีวิตและจิตใจอันดีงามของคนให้จมอยู่กับความทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดในทุกขเวทนาเหล่านั้นไม่รู้จักจบสิ้น

การคิดพิจารณาแบบอยู่กับปัจจุบัน

คือ การมีสติอยู่กับตัวในทุกขณะจิต รู้ว่าปัจจุบันตนเองกำลังคิดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ มีสติอยู่กับสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเป็นไปตรงหน้า ไม่เหม่อลอยรำลึกอดีต ไม่เพ้อฝันลอยล่องไปถึงอนาคต

[๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว

และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน

ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้

บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ

ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง

เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น

ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้

มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า

ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

ภัทเทกรัตนสูตร

ที่มา http://www.nkgen.com/749.htm

“พึงระแวงสิ่งที่ควรระแวง พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึง ธีรชนตรวจตราโลกทั้งสอง เพราะคำนึงภัยที่ยังไม่มาถึง”

“เป็นคนควรหวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้ เราเป็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้สมตามนั้น”

“เธอทั้งหลาย จงยังกิจของตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”

ที่มา http://board.palungjit.org/9639509-post7.html

พระพุทธองค์เคยตรัสสอนสงฆ์สาวกให้เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร เพื่อบรรลุธรรมขณะที่ยังมีเรี่ยวแรงกำลัง สุขภาพยังเอื้ออำนวย มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมให้ได้เสียแต่วันนี้ก่อนที่เรี่ยวแรงกำลัง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย ทำให้บรรลุธรรมได้ยาก ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมองเห็นภัยอนาคต ๕ ประการต่อไปนี้ ย่อมควรแท้ที่ภิกษุจะเป็นอยู่โดยเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศตัวเด็ดเดี่ยว เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง ๕ ประการ คืออะไร ? ได้แก่

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เวลานี้ เรายังหนุ่ม ยังเยาว์ มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความหนุ่มแน่นยามปฐมวัย แต่ก็จะมีคราวสมัยที่ความชราจะเข้าต้องกายนี้ได้ ก็แลการที่คนแก่เฒ่าถูกชราครอบงำ แล้วจะมนสิการคำสอของพระพุทธะทั้งหลาย ย่อมมิใช่จะทำได้โดยง่าย การที่จะเสพเสนาสนะ อันสงัดในราวป่าแดนไพร ก็มิใช่จะทำได้โดยง่าย อย่ากระนั้นเลย ก่อนที่สภาพอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบ ไม่น่าพึงใจนั้นจะมาถึง เรารีบเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ…ซึ่งเมื่อเรามีพร้อมแล้ว แม้จะแก่เฒ่าลงก็จักเป็นอยู่ผาสุก…

๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เวลานี้ เรามีอาพาธน้อย มีความเจ็บไข้น้อย ประกอบด้วยแรงไฟเผาผลาญย่อยอาหารที่สม่ำเสมอ ไม่เย็นเกินไปไม่ร้อนเกินไป พอดี เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร แต่ก็จะมีคราวสมัยที่ความเจ็บไข้จะเข้าต้องกายนี้ได้ ฯลฯ เราจะรีบเริ่มระดมความเพียร…แม้เจ็บไข้ ก็จักเป็นอยู่ผาสุก…

๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เวลานี้ ข้าวยังดี บิณฑบาตหาได้ง่าย การยังชีพด้วยการอุ้มบาตรเที่ยวไป ก็ยังทำได้ง่าย แต่จะมีคราวสมัยที่อาหารขาดแคลน ข้าวไม่ดี หาบิณฑบาตได้ยาก การยังชีพด้วยการอุ้มบาตรเที่ยวไป จะมิใช่ทำได้ง่าย พวกประชาชนในที่หาอาหารได้ยากก็จะอพยพไปยังถิ่นที่หาอาหารได้ง่าย วัดในถิ่นนั้น ก็จะเป็นที่คับคั่งจอแจ ก็เมื่อวัดคับคั่งจอแจ การที่จะมนสิการคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย ย่อมมิใช่จะทำได้ง่าย การที่จะเข้าเสพอาศัยเสนาสนะอันสงัด ในราวป่าแดนไพร ก็มิใช่จะทำได้ง่าย อย่ากระนั่นเลย ฯลฯ เราจะรีบเริ่มระดมความเพียร…แม้อาหารขาดแคลน ก็จักเป็นอยู่ผาสุก…

๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เวลานี้ ประชาชนทั้งหลาย พร้อมเพรียง ร่วมบันเทิงไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำกับน้ำนม มองดูกันด้วยสายตารักใคร่ แต่ก็จะมีคราวสมัยที่เกิดมีภัย มีการก่อกำเริบในแดนดง ชาวชนบทพากันขึ้นยานหนีแยกย้ายกันไป ในเมื่อมีภัย ประชาชนทั้งหลายย่อมอพยพไปยังถิ่นที่ปลอดภัย วัดในถิ่นนั้นก็จะเป็นที่คับคั่งจอแจ ฯลฯ เราจะรีบเริ่มระดมความเพียร…แม้เมื่อมีภัย ก็จักเป็นอยู่ผาสุก…

๕. อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เวลานี้ สงฆ์ยังพร้อมเพรียง ร่วมบันเทิงไม่วาทกัน มีการสวดปาติโมกข์ร่วมกัน เป็นอยู่ผาสุก แต่ก็จะมีคราวสมัยที่สงฆ์แตกแยกกัน ครั้นเมื่อสงฆ์แตกแยกกันแล้ว การที่จะมนสิการคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย ย่อมจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย การที่จะเข้าเสพอาศัยเสนาสนะอันสงัด ในราวป่าแดนไพร ก็มิใช่จะทำได้ง่าย อย่ากระนั่นเลย ฯลฯ เราจะรีบเริ่มระดมความเพียร…แม้สงฆ์แตกแยกกัน ก็จักเป็นอยู่ผาสุก…”

(องฺ.ปญฺจก.22/78/117)

ที่มา http://board.palungjit.org/9639509-post7.html

ภัย ๕ ประการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งพระพุทธองค์ฝากสงฆ์สาวกให้ช่วยกันดูแล ขจัดเหตุเภทภัยทั้ง ๕ ดังนี้

๙. ตติยอนาคตสูตร

[๗๙]   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคต  ๕ ประการนี้  ยังไม่บังเกิดในปัจจุบัน   แต่จะบังเกิดในกาลต่อไป  ภัยเหล่านั้น   เธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะครั้นแล้ว   พึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น      ภัยในอนาคต   ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ในอนาคต   ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย   ไม่อบรมศีล  ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา  เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น   จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล  อธิจิต  อธิปัญญา  แม้กุลบุตรเหล่านั้น    ก็จักไม่อบรมกาย   ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา   เมื่อไม่อบรมกาย    ไม่อบรมศีล   ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา  ก็จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น     จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล  อธิจิต  อธิปัญญา  แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล   ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา  เพราะเหตุดังนี้แล   การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม   การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคตข้อที่ ๑  นี้     ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป   ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ   ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง  ในอนาคต   ภิกษุทั้งหลาย    จักไม่อบรมกาย    ไม่อบรมศีล  ไม่อบรมจิต   ไม่อบรมปัญญา    เมื่อไม่อบรมกาย    ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา   จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น    จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล   อธิจิต   อธิปัญญา   แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล  ไม่อบรมจิต   ไม่อบรมปัญญา   เมื่อไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล  ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา   ก็จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น    จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล    อธิจิต    อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย   ไม่อบรมศีล   ไม่อบรมจิต    ไม่อบรมปัญญา   เพราะเหตุดังนี้แล   การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม   การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคตข้อที่  ๒  นี้  ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้  แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป   ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ   ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง  ในอนาคต   ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล  ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา  เมื่อไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต   ไม่อบรมปัญญา  เมื่อแสดงอภิธรรมกถา   เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิดก็จักไม่รู้สึก   เพราะเหตุดังนี้แล    การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคตข้อที่   ๓  นี้   ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้    แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป    ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ  ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง  ในอนาคต   ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล  ไม่อบรมจิต   ไม่อบรมปัญญา  เมื่อไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา  พระสูตรต่าง ๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้    เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้งเป็นโลกุตระ  ประกอบด้วยสุญญตาธรรม    เมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ก็จักไม่ฟังด้วยดี      จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ   จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้

จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน   แต่ว่าสูตรต่าง  ๆ   ที่นักกวีแต่งไว้  ประพันธ์เป็นบทกวี  มีอักษรสละสลวย  มีพยัญชนะสละสลวย   เป็นพาหิรกถา  เป็นสาวกภาษิต    เมื่อพระสูตรเหล่านั้น  อันบุคคลแสดงอยู่   ก็จักฟังด้วยดี   จักเงี่ยโสตลงสดับ   จักตั้งจิตเพื่อรู้   จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน   เพราะเหตุดังนี้แล   การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่  ๔ นี้  ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้  แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้เธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ  ครั้นแล้ว   พึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง  ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา  เมื่อไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิตไม่อบรมปัญญา ภิกษุผู้เถระก็จักเป็นผู้มักมาก  มีความประพฤติย่อหย่อน  เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด  ทอดธุระในความสงัด  จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง   เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ   เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง  ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง   แม้ประชุมชนนั้นก็จักเป็นผู้มักมาก    มีความประพฤติย่อหย่อน    เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด  ทอดธุระในความสงัด  จักไม่ปรารภความเพียร  เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง   เพราะเหตุดังนี้แล   การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม  การลบล้างธรรมย่อมมี   เพราะการลบล้างวินัย   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ภัยในอนาคตข้อที่  ๕ นี้    ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้    แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป   ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ   ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคต  ๕ ประการนี้แล   ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้   แต่จะบังเกิดในกาลต่อไป    ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น.

ตติยอนาคตสูตรที่  ๙

อรรถกถาตติยอนาคตสูตร

http://www.tripitaka91.com/91book/book36/151_200.htm

อีกบทหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า

[๘๐]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ภัยในอนาคต  ๕ ประการนี้   ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้    แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป   ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ  ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น  ๕ ประการเป็นไฉน  คือ ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบจีวรดีงาม  เมื่อชอบจีวรดีงามก็จักละความเป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร   จักละเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ   จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน   นิคมและราชธานี    และจักถึงการแสวงหาไม่สมควร  อันไม่เหมาะสมต่าง ๆ  เพราะเหตุจีวร   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ภัยในอนาคตข้อที่  ๑  นี้   ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้  แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป  ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ  ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง  ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบบิณฑบาตที่ดีงาม  เมื่อชอบบิณฑบาตที่ดีงาม  ก็จักละความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร  ละเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ   จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม  และราชธานี   แสวงหาบิณฑบาตที่มีรสอันเลิศด้วยปลายลิ้น   และจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร    ไม่เหมาะสมต่าง ๆ    เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคตข้อที่  ๒ นี้    ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้    แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป    ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ    ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง  ในอนาคต    ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบเสนาสนะดีงาม  เมื่อชอบเสนาสนะดีงาม   ก็จักละความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร   ละเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ   จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน   นิคม  และราชธานีและจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร     ไม่เหมาะสมต่าง  ๆ    เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ภัยในอนาคตข้อที่ ๓ นี้  ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้   แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง  ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้อยู่คลุกคลีด้วยภิกษุณี  นางสิกขมานา และสมณุทเทส  เมื่อมีการคลุกคลีด้วยภิกษุณี นางสิกขมานา  และสมณุทเทส   พึงหวังข้อนี้ได้ว่า   เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ยินดี ประพฤติพรหมจรรย์  จักต้องอาบัติเศร้าหมองบางอย่าง  หรือจักบอกคืนสิกขา เวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้  ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้  แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป  ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ  ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้คลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ และสมณุทเทส  เมื่อมีการคลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ และสมณุทเทส พึงหวังข้อนี้ได้ว่า      เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ประกอบการบริโภคของที่สะสมไว้มีประการต่าง ๆ   จักกระทำนิมิตแม้อย่างหยาบที่แผ่นดินบ้าง    ที่ปลายของเขียวบ้าง   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ภัยในอนาคตข้อที่ ๕ นี้     ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป  ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ    ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคต  ๕ ประการนี้แล   ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้  แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป   ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะครั้นแล้ว พึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น.

http://www.tripitaka91.com/91book/book36/151_200.htm

การคิดพิจารณาแบบวิภัชชวาท

คือ การบอก สอน แยกแยะ แจกแจงเรื่องราวต่างๆให้ผู้ฟังได้รับรู้เรื่องราวต่างๆในทุกแง่มุม อย่างครบถ้วนกระบวนความ เช่น กรณีที่พระพุทธองค์ทรงแยกแยะคำพูดที่ทรงตรัสและไม่ทรงตรัสให้อภัยราชกุมารฟังว่า

คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจขอผู้อื่น – ไม่ตรัส

คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจขอผู้อื่น – ไม่ตรัส

คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจขอผู้อื่น – เลือกกาลตรัส

คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจขอผู้อื่น – ไม่ตรัส

คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจขอผู้อื่น – ไม่ตรัส

คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจขอผู้อื่น – เลือกการตรัส

อีกกรณีหนึ่งคือการจำแนกกามโภคี คือ ชาวบ้านว่ามี ๑๐ ประเภท มีส่วนดี ส่วนเสีย ดังนี้

กลุ่มที่ ๑ แสวงหาไม่ชอบธรรม

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิทั้ง ๓ สถาน

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิ ๒ สถาน ควรชม ๑ สถาน

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งยังเผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิ ๑ สถาน ควรชม ๒ สถาน

กลุ่มที่ ๒ แสวงหาทรัพย์มาโดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิ ๓ สถาน ควรชม ๑ สถาน

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิ ๒ สถาน ควรชม ๒ สถาน

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งยังเผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิ ๑ สถาน ควรชม ๓ สถาน

กลุ่มที่ ๓ แสวงหาทรัพย์ชอบธรรม

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิ ๒ สถาน ควรชม ๑ สถาน

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ควรตำหนิ ๑ สถาน ควรชม ๒ สถาน

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งยังเผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี แต่ยังติดหมกมุ่น กินใช้ทรัพย์สมบัติโดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะทำตนให้เป็นอิสระ เป็นนายเหนือโภคทรัพย์ ควรชม ๓ สถาน ควรตำหนิ ๑ สถาน

พวกพิเศษ แสวงหาชอบธรรม และกินใช้อย่างมีสติสัมปชัญญะ มีจิตใจเป็นอิสระ

พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติโดยรู้เท่าทัน เห็นคุณโทษ ทางดีทางเสียของมัน มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระ เป็นนายเหนอโภคทรัพย์ – เป็นชาวบ้านชนิดที่เลิศ ประเสริฐ สูงสุด ควรชมทั้ง ๔ สถาน

ส่วนภิกษุผู้อยู่ป่านั้น พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้ ๕ ประเภท คือ ผู่อยู่ป่าเพราะเป็นผู้โง่เขลา เพราะงมงาย ๑, เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาครอบงำจึงอยู่ป่า ๑, เป็นผู้อยู่ป่าเพราะความเสียจริต เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑, เป็นผู้อยู่ป่าเพราะเห็นว่าการอยู่ป่านี้ พระพุทธะทั้งหลาย พระพุทธสาวกทั้งหลายสรรเสริญ ๑, เป็นผู้อยู่ป่า เพราะอาศัยความเป็นผู้มักน้อย ผู้สันโดษ ผู้ขัดเกลา ผู้ใฝ่สงัด ผู้พอใจเท่าที่มี ๑

บรรดาผู้อยู่ป่าทั้ง ๕ ประเภทนี้ ผู้อยู่ป่าเพราะอาศัยความเป็นผู้มักน้อย ผู้สันโดษ ผู้ขัดเกลา ผู้ใฝ่สงัด ผู้พอใจเท่าที่มีนี้เป็นอย่างเลิศ ประเสริฐ นำหน้าสูงสุด ดีเยี่ยมในบรรดาผู้อยู่ป่าทั้ง ๕

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑