ตุลาการภิวัฒน์อันเที่ยงแท้ : นิติรัฐแบบฉินซีฮ่องเต้


ตุลาการณ์ภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นทำให้นึกถึงสมัยชุนชิว-จ้านกว๋อ(เลียดก๊ก)ซึ่งเดิมทีนั้นแคว้นฉินก็เป็นแต่เพียงแค่รัฐชายขอบที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ภายหลังการปฏิรูปกฎหมายของซางเอียงแคว้นฉินก็เข้มแข็งขึ้น ล่วงเข้าสู่รัชสมัยของฉินอ๋องเจิ้งปรากฏหลักปรากฏยอดนักนิติธรรมขึ้นมาอีกผู้หนึ่งคือหานเฟย ฉินอ๋องเจิ้ง(ฉินซีฮ่องเต้)นับถือเลื่อมใสในแนวทางความคิดที่รวบยอด ครบเครื่อง สมบูรณ์ของหานเฟยเป็นอย่างมาก หลี่ซือมหาเสนาบดีของฉินอ๋องเจิ้งก็นับเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ดังนั้นรัชสมัยของฉินอ๋องเจิ้งการปกครองภายใต้กฎหมายอันเข้มงวดที่เกิดขึ้นจึงสอดคล้องเป็นอย่างมากกับหลักการ แนวความคิดของหานเฟยจื่อ 

หันมองมายังบ้านเราเมืองเราทุกวันนี้ ตุลาการภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นนั้นถูกกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ใช้กฎหมายจัดการ เล่นงานกับกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นความสงบในบ้านเมืองจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ รัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นก้าวล้ำนำหน้ากว่ารัฐธรรมนูญปี 40 แม้มีที่มาที่ไม่ถูกต้องนักก็ตามแต่ ดังเช่นที่หานเฟยกล่าวไว้ ตัวบท การบังคับใช้ และอำนาจทั้ง 3 ประการล้วนสำคัญ ต้องประสานสอดคล้องกันกฎหมายจึงศักดิ์สิทธิ์ บ้านเมืองกลับสู่ความสงบร่มเย็นเป็นสุข นี่คือสิ่งที่ขาดหายไปในกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นครับ

หานเฟย

วิ กีพีเดีย สารานุกรมเสรีกล่าวถึงประวัติของหานเฟยเอาไว้สั้นๆว่า หาน เฟยจื่อ (อังกฤษ: Han Fei Tzu; จีน: 韩非; พินอิน: Hán Fēi; เวด-ไจลส์: Han Fei) (ca. 280–233 BC) เป็นนักปรัชญาชาวจีน เป็นเชื้อพระวงศ์ของรัฐหาน หานเฟยมีกำเนิดในแคว้นฮั่น ในช่วงปลายของยุคจ้านกว๋อ หานเฟยกับสหายคือหลี่ซือได้ร่วมกันพัฒนาหลักปรัชญาของซุนจื่อ ต่อมาได้เสนอหลักการปกครองโดยใช้หลักนิติธรรม ให้ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย และตั้งโรงเรียนนิติธรรมขึ้น

ส่วน http://thai.cri.cn/chinaabc/chapter17/chapter170201.htm กล่าวถึงประวัติของหานเฟยเอาไว้ว่า

หัน เฟยจื่อเป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ริเริ่มสำนักฝ่า เจียหรือสำนักนิติธรรมและเป็นนักเขียนวรรณกรรรมปกิณกะของ สมัยจ้านกั๋ว(ปีที่475-221ก่อนค.ศ.)ฝ่าเจียที่เขาก่อตั้งขึ้นได้เสนอข้ออ้าง อิงทางทฤษฎีแก่การสถาปนาประเทศที่ใช้ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ อำนาจส่วนกลางประเทศแรกของจีน

หานเฟยจื่อเป็นเชื้อ พระวงศ์ของรัฐหานปลายสมัยจ้านกั๋วเป็นศิษย์ของสวินจื่อนักปรัชญาอีกคนหนึ่ง ในสมัยนั้นแม้เป็นคนติดอ่างพูดไม่เก่ง แต่เขามีความเชี่ยวชาญในการเขียนหนังสือ

สมัยที่หาน เฟยจื่อใช้ชีวิตอยู่นั้น รัฐหานมีสภาพเสื่อมโทรมลง เรื่อยๆ ฝ่าเจียที่มีหานเฟยจื่อเป็นตัวแทนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเกี่ยว กับ ”เมตตาธรรม”ของลัทธิขงจื้อโดยให้ความเห็นว่า ธรรมชาติของ มนุษย์ไม่ได้ดีงามอย่างที่คิด หากแต่เห็นแก่ตัวจึงเป็นการเปล่า ประโยชน์ที่จะมาพร่ำสอนแต่อุดมคติในเมื่อตามความเป็นจริงแล้ว มันไม่อาจแก้ไขหรือปฏิรูปสังคมได้เลย การหวนกลับไปหาสังคมใน อดีตอย่างที่ขงจื้อเรียกร้องเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ไม่อาจนำมาปฏิบัติ ให้ได้ผล เนื่องจากยุคสมัยแตกต่างกันมากและวิธการีที่ใช้ก็ แตกต่างกันด้วย ในเมื่อธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัวจึงจำเป็นต้อง มีมาตรการบังคับไม่ให้กระทำชั่วอย่างเด็ดขาด ด้วยความรักชาติ หานเฟยจื่อได้ทูลข้อเสนอแด่กษัตริย์รัฐหานหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้ ปฏิรูปและถือหลักในการปกครองว่าจะต้องพัฒนาประเทศให้มี ความมั่งคั่งและสร้างกองทัพที่เข้มแข็งเป็นสำคัญ แต่กษัตริย์ไม่ทรงรับข้อ เสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หานเฟยจื่อไม่ได้ท้อถอย เขาได้สรุปประสบการณ์และบทเรียนด้านการปกครองของยุคสมัยที่ ผ่านมาตลอดจนสภาพทางสังคมตามความเป็นจริงและเขียนเป็น วิทยานิพนธ์ทางการเมืองในหัวเรื่องต่างๆประมาณ100000คำและเรียบเรียงเป็น หนังสือเล่มที่มีชื่อว่า”หานเฟยจื่อ”แม้วิทยานิพนธ์เหล่านี้ไม่ได้ รับความสนใจในรัฐหานแต่กลับเป็นที่นิยมชมชอบของฉินซีฮ่องเต้ กษัตริย์ของรัฐฉินที่เป็นรัฐเข้มแข็งเกรียงไกรในสมัยนั้น

เมื่อ ฉินซีฮ่องเต้ยกทัพไปบุกรัฐหาน กษัตริย์รัฐหานจัดส่งหัน เฟยจื่อเป็นทูตพิเศษไปรัฐฉิน เพื่อแสวงหาสันติภาพ ฉินซีฮ่องเต้ถือ โอกาสเชื้อเชิญหานเฟยจื่อดำรงตำแหน่งสำคัญที่รัฐฉิน แต่หลี่ซือ เสนาบดีใหญ่ของรัฐฉินในเวลานั้นเป็นศิษย์อีกคนหนึ่งของสวินจื่อรู้ว่า ความปรีชาสามารถของหันเฟยจื่อสูงกว่าตน ด้วยความอิจฉาริษยา จึงได้ทูลใส่ร้ายป้ายสีหานเฟยจื่อต่อฉินซีฮ่องเต้ หานเฟยจื่อเลย ต้องติดคุกและถูกฆ่าตายด้วยการวางยาพิษ

หนังสือ เรื่อง “หานเฟยจื่อ”เป็นบทประพันธ์เล่มสำคัญของหันเฟยจื่อ นับเป็นหนังสือตัวแทนของฝ่าเจีย เขียนขึ้นเป็นเรื่องสั้นๆ มีทั้งหมด 55 เรื่อง สำนวนภาษาเข้าใจง่าย บางท่านอาจคิดว่า ปรัชญา มักเป็นเรื่องชวนปวดหัว ต้องคิดมาก และฟังดูเหมือนเป็นเรื่องโบราณ แต่การนำเสนอเป็นนิทานสั้นๆของหานเฟยจื่อนี้ทำให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจง่าย อีกทั้งแฝงข้อคิดที่ย้อนกลับมาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในชีวิตจริง ด้วย อย่างเช่น มีประโยคที่คัดลอกจาก หนังสือ “หานเฟยจื่อ”ว่า

ความ ยิ่งใหญ่ของอุดมการณ์มิได้อยู่ที่การชนะผู้อื่น แต่อยู่ที่การชนะ ตนเอง นิทานบางเรื่องในบทประพันธ์ของเขายังถูกผู้คนนำมาใช้อ้างอิงอยู่ เสมอจนกระทั่งทุกวันนี้

หนังสือ “ยอดคนยอดปฐพี” (น.นพรัตน์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2544, บริษัท สยามอินเตอร์คอมิกส์ จำกัด) ให้ข้อมูลไว้ดังนี้


แผนที่สมัยเลียดก๊กจากวิกีพีเดีย

รัฐ หานเป็นเมืองโบราณซึ่งมีภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศกันดาร ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น ประกอบกับอยู่ระหว่างรัฐใหญ่หลายรัฐ ด้านทิศตะวันตกเป็นรัฐฉิน ทิศใต้เป็นรัฐฉู่ ทิศตะวันออกเป็นรัฐฉี ทิศเหนือเป็นรัฐจ้าวและวุ่ย ในบรรดา 7 รัฐยุคจ้านกว๋อรัฐหานเป็นรัฐเล็กที่อ่อนแอที่สุด บวกกับเจ้ารัฐหานขาดความเด็ดเดี่ยว อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือขุนนางเชื้อพระวงศ์อาจสิ้นชาติได้ทุกเมื่อ

หาน เฟยเห็นรัฐหานตกอยู่ในสภาพง่อนแง่นจึงทำหนังสือกราบทูลพระบิดาหลายครั้ง เพื่อเสนอแนวทางกอบกู้บ้านเมืองแต่ก็ถูกขุนนางเชื้อพระวงศ์คัดค้าน ไม่สามารถบรรลุปณิธานที่วางไว้ได้ สร้างความคับข้องใจแก่หานเฟยเป็นอย่างมากจนต้องระบายออกมาผ่านบทความ “โน้วน้าวยากเย็น” ซึ่งมีใจความว่า

โน้มน้าวยากเย็น

“เอ่ย ถึงความยากลำบากในการโน้มน้าวเจ้าชีวิต ความยากลำบากมิใช่อยู่ที่สติปัญญาแห่งข้าสามารถเกลี้ยกล่อมเจ้าชีวิตหรือไม่ ทั้งไม่ได้อยู่ที่วาทศิลป์ของข้าสามารถถ่ายทอดเจตนารมณ์ของตัวเองหรือไม่ ยิ่งไม่ได้อยู่ที่ข้ากล้าถ่ายทอดบอกคำพูดที่ข้าสมควรกล่าวหรือไม่ ความยากลำบากของการโน้มน้าวอยู่ที่ทำความเข้าใจจิตใจของอีกฝ่าย เลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมกลมกลืน ทำการเกลี้ยกล่อมให้คล้อยตาม”

“ใน ส่วนของผู้เจรจาโน้มน้าวอาจมีภัยถึงตัวรวม 7 ประการ หนึ่งคือผู้เจรจาเอ่ยถึงความลับที่อีกฝ่ายคิดปกปิด ไม่ว่าเกิดจากเจตนาหรือไม่ก็ตาม หนึ่งคือผู้พูดไม่เพียงทราบเรื่องราวที่อีกฝ่ายกระทำทั้งยังล่วงรู้จุดหมาย ที่อีกฝ่ายกระทำการ หนึ่งคือผู้นำเสนอเรื่องราวเป็นที่ถูกใจของอีกฝ่ายแต่คนนอกวงคาดเดาเรื่อง ราวออกเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าผู้นำเสนอเผยความลับออกไป หนึ่งคือผู้เจรจามีความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายเพียงผิวเผินแต่กล่าววาจาในเชิง ลึกเกินไป หนึ่งคือผู้พูดเปิดเผยข้อผิดพลาดของผู้มีอำนาจหรือประจานพฤติกรรมของคนบุญ หนักศักดิ์ใหญ่ หนึ่งคือผู้เจรจาอวดอ้างความสำเร็จ ยึดความดีความชอบของผู้ปกครองแคว้นไป หนึ่งคือผู้พูดบังคับอีกฝ่ายกระทำเรื่องที่ทำไม่ได้ หรือขัดขวางเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของอีกฝ่าย”

“มังกร เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ หากกำราบได้สามารถขึ้นขี่บนหลังมัน แต่ที่ใต้ลำคอมันมีเกล็ดย้อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต หากผู้คนกระทบถูกมันมังกรจะอาละวาดด้วยพิโรธทำร้ายคนถึงแก่ชีวิต เจ้าชีวิตก็มีเกล็ดย้อน หากผู้โน้มน้าวเพิ่มความระมัดระวังไม่กระทบถูกเกล็ดย้อนนั้นจะดำรงคงอยู่ได้ “

“นี่เป็นความยากลำบากของผู้โน้มน้าวเนื่องจาก เกล็ดย้อนของมังกรมีตำแหน่งที่แน่นอนคืออยู่ใต้ลำคอ แต่เกล็ดย้อนของเจ้าชีวิตไม่ทราบอยู่แห่งหนใด หากพูดจาโดยไม่ระวังอาจกระทบถูกเกล็ดย้อนนั้นได้ทุกเมื่อ”

“ผล ประโยชน์ระหว่างเจ้าชีวิตกับขุนนางขัดแย้งกันด้วยเจ้าชีวิตตั้งพระทัยคัด เลือกผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยราชการ หากแต่ขุนนางนั้นถึงแม้ไร้คุณวุฒิก็รับราชการได้ เจ้าชีวิตตั้งพระทัยปูนบำเหน็จรางวัลเฉพาะผู้มีความดีความชอบ หากแต่ขุนนางถึงแม้ไม่มีคุณงามความดียังร่ำรวยมากด้วยยศศักดิ์ เจ้าชีวิตตั้งพระทัยชุบเลี้ยงผู้มีความรู้ความสามารถหากแต่ขุนนางซ่องสุม กำลังส่วนตัวขึ้นมา สุดท้ายเจ้าชีวิตสูญเสียอำนาจขุนนางครองความเป็นใหญ่แทน”

เมื่อ ผลงานของหานเฟยเผยแพร่ถึงรัฐฉิน ฉินอ๋องเจิ้งได้ทอดพระเนตรบทความ “โดดเดี่ยวคับแค้น” และ “ตัวมอดทั้งห้า” ของหานเฟยแล้วทรงชื่นชมต่อภูมิปัญญาของเจ้าของบทความนี้ยิ่ง ตอนแรกเข้าพระทัยว่าเป็นผลงานของคนรุ่นก่อน รู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสพบพาน หลี่ซื่อซึ่งเป็นคนสนิทจึงกราบทูลว่าตนกับหานเฟยเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน ฉินอ๋องเจิ้งต้องการได้ตัวหานเฟยจึงยกทัพบุกรัฐหานบีบบังคับให้รัฐหานส่งตัว หานเฟยมายังรัฐฉิน หานเฟยจึงต้องเดินทางมายังรัฐฉินในฐานะทูต

ส่วน บทความ “ตัวมอดทั้งห้า” หานเฟยใช้เป็นหัวข้อเปรียบเปรยบุคคล 5 ประเภท ได้แก่ เหล่าบัณฑิต นักการทูต จอมยุทธหนีทหาร และพ่อค้าวาณิชย์ ว่าเป็นตัวมอดที่คอยกัดกร่อนแว่นแคว้น

เมื่อหานเฟยมา ถึงรัฐฉิน ฉินอ๋องเจิ้งทรงยินดีที่ได้พบ ขณะเดียวกันก็ไม่วางพระทัยหานเฟย หลี่ซื่อซึ่งหวั่นวิตกว่าฉินอ๋องเจิ้งจะให้ความสำคัญแก่หานเฟยส่งผลกระทบถึง อนาคตตนเองจึงร่วมมือกับเหยาเจี้ยกราบทูลยุยงฉินอ๋องเจิ้งว่า “หานเฟยเป็นคุณชายรัฐหาน ตอนนี้พระองค์คิดผนวกรัฐต่างๆ หานเฟยย่อมต้องปกป้องรัฐหานโดยไม่ช่วยเหลือรัฐฉินหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นภัย แก่แว่นแคว้น” ฉินอ๋องเจิ้งเห็นด้วยจึงมีบัญชาให้กักขังหานเฟยไว้ที่ตำหนักหวินหยาง แต่ต่อมาเปลี่ยนพระทัยรับสั่งให้นิรโทษกรรมแก่หานเฟยแต่ก็ช้าเกินกาลไปเสีย แล้วเพราะหลี่ซือชิงลงมือวางยาพิษปลิดชีวิตหานเฟยไปก่อนแล้ว

หลักนิติรัฐ

เมื่อ ฉินอ๋องเจิ้งรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้สำเร็จก็ได้มอบหมายให้หลี่ซือร่างนโยบาย การปกครองซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับแนวความคิดของหานเฟยเป็นอย่าง มาก

หลักการปกครองของหานเฟย ปฏิเสธหลักจริยธรรมของปราชญ์ขงจื้อและปฏิเสธทบบัญญัติทางศาสนาของม่อจื้อ เน้นที่การตราตัวบทกฎหมาย เสนอหลักการให้รางวัลอย่างงาม กำหนดบทลงโทษอย่างเฉียบขาด ทำการควบคุมแว่นแคว้นและราษฎร ซึ่งก่อนหน้าหานเฟยนั้นในยุคชุนชิว-จ้านกว๋อก็มีนักนิติธรรมอยู่หลายคนด้วย กัน ซางเอียงผู้ปฏิรูปรัฐฉินจากแคว้นที่เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนให้กลายมาเป็นรัฐ มหาอำนาจนั้นให้ความสำคัญกับกฎหมาย ส่วนเซินปู้ไฮ่แห่งรัฐหาน ขุนนางที่ทำให้ไม่มีรัฐใดกล้ารุกรานรัฐเล็กๆอย่างรัฐหานได้นั้นให้ความสำคัญ กับกลวิธี ส่วนเสิ่นเต้าของรัฐจ้าวนั้นให้ความสำคัญกับอำนาจ แต่หานเฟยนั้นเป็นผู้ตกผลึกความคิด หลักกฎหมายของซางเอียง กลวิธีของเซินปู้ไฮ่ และอำนาจของเสิ่นเต้า ผสมผสานหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวโดยถือปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ไม่แสวงหาแนวปฏิบัติจากอดีตด้วยการยกนิทานเรื่อง “เฝ้าใต้ต้นไม้รอกระต่าย” มาเปรียบเปรยว่า

“ที่ รัฐซ้องมีชาวนาผู้หนึ่งกำลังไถนา ในนามีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง ชาวนาผู้นั้นทำงานจนเหนื่อยจึงนั่งพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปรากฏว่ามีกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาชนต้นไม้จนคอหักตายจึงเข้าไปเก็บซากกระต่าย ขึ้นมา ชาวนานั้นนึกยินดีในลาภลอยที่ได้มาไม่คาดฝันนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็เลิกไถนา แล้วหันมานั่งเฝ้าอยู่ใต้ต้นไม้หวังว่าจะได้กระต่ายอีกตัวหนึ่ง หากทว่ารอแล้วรอเล่าก็ยังคงไม่มีกระต่ายตัวที่สองวิ่งมาชนลำต้นไม้อีก กลับกลายเป็นเรื่องหัวเราะเยาะของชาวซ้องไป”

เรื่อง นี้กลายเป็นนิทานสุภาษิตของจีนซึ่งหานเฟยต้องการชี้ให้เห็นว่าเหตุบังเอิญ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ยากที่จะอุบัติซ้ำสอง ฉะนั้นหากคิดนำหลักการปกครองของบุรพกษัติย์มาควบคุมประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องอันโฉดเขลาประหนึ่งชาวนาเฝ้าใต้ต้นไม้รอกระต่าย หานเฟยเห็นว่า

“สมัย โบราณวัสดุอุปกรณ์สร้างอย่างลวกๆ ใช้เปลือกหอยเป็นเครื่องมือดายหญ้า ใช้แรงงานมนุษย์ผลักดุนรถ ประกอบกับโบราณกาลประชากรน้อย ทรัพยากรสมบูรณ์ ผุ้คนจึงรักใคร่กลมเกลียวแม้กระทั่งบัลลังค์ยังยกให้ ครั้นลุล่วงถึงปัจจุบัน ผู้ชาญฉลาดไม่นั่งรถที่ใช้แรงงานมนุษย์ผลักดุน ฉะนั้นผู้เปรื่องปราดไม่ดำเนินนโยบายโบราณกาลอีก”

ที่ เป็นเช่นนี้เพราะในยุคจ้านกว๋อชาวนามีเครื่องมือกสิกรรมที่ทำจากเหล็ก คนบุญหนักศักดิ์ใหญ่มีรถม้าเลิศหรู จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นขณะที่ทรัพยากรไม่ได้เพิ่มพูน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากยุคโบราณซึ่งดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายจึงต้อง ปรับปรุงหลักการปกครอง

“หาก เป็นรัฐเล็กทุกเรื่องราวต้องยอมจำนนต่อรัฐใหญ่ หากแม้นกำลังทหารอ่อนแอจะกลัวเกรงทัพเข้มแข็งรุกราน ในรัฐเล็กยังมีขุนนางปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน มีการติดต่อกับรัฐข้างเคียง ขายชาติบ้านเมืองของตน หากเจ้าแห่งรัฐไม่ติดตามตรวจสอบ ดำเนินการยับยั้ง สุดท้ายรัฐต้องล่มสลาย “

หานเฟยยังกล่าวอีกว่า

“พื้นที่ ก้อนหินขยายถึงพันลี้ไม่ถือว่าอุดมสมบูรณ์ หุ่นไม้เพิ่มถึงหมื่นตัวก็ไม่ถือว่าเข้มแข็งด้วยก้อนหินไม่อาจสร้างผลผลิต หุ่นไม้ไม่สามารถต่อต้านศัตรู หากคิดหวังให้แว่นแคว้นมั่นคงพึงเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เสริมสมรรถนะของกองทัพ ขอเพียงรัฐกล้าแข็งจะมีคนมาส่งเครื่องบรรณาการ หากกำลังอ่อนแอได้แต่ส่งเครื่องบรรณาการไปให้ผู้อื่น”

“แม้นแขนเสื้อกว้างใหญ่ยามร่ายรำย่อมสวยงาม หากทรัพย์สินเงินทองมากเมื่อประกอบการค้าได้ผลตอบแทนอย่างงาม”

หลักการใช้ตัวบทกฎหมายของหานเฟยระบุว่าตัวบทกฎหมายนั้นหมายถึงหลักกฎหมาย คำสั่งห้าม ข้อกำหนด และบรรทัดฐาน

“มี คนตั้งคำถามว่าระหว่างเซินปู้ไฮ่กับซางเอียงแนวทางของทั้ง 2 สำนักนี้ฝ่ายใดมีความสำคัญต่อการปกครองแว่นแคว้นกว่ากัน ? ขอตอบว่านี่ไม่อาจประมาณค่าได้ คนผู้หนึ่งไม่รับประทานอาหารอดอยากอยู่ 10 วันต้องตาย ในฤดูกาลอันเหน็บหนาวหากปราศจากเสื้อผ้าต้องแข็งตาย หากจะถามว่าระหว่างอาหารกับเสื้อผ้าสิ่งใดมีความสำคัญกว่ากัน ได้แต่บอกว่าไม่อาจขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เซินปู้ไฮ่เสนอให้ใช้กลวิธี ซางเอียงเสนอให้ใช้หลักกฎหมาย จากเจ้าชีวิตไร้ซึ่งกลวิธีผู้คนเบื้องล่างจะทุจริตคิดมิชอบ หากไม่รักษาตัวบทกฎหมายแผ่นดินจะเกิดจราจลวุ่นวาย ทั้ง 2 สิ่งนี้ล้วนเป็นเครื่องมือในการปกครองของเจ้าชีวิตทั้งสิ้น”

“เจ้า รัฐฉู่ทรงพระนามฉู่จวงอ๋องมีเรื่องรีบด่วนเบิกตัวไทจือเข้าเฝ้า ตามกฎระเบียบของราชสำนักฉู่ ห้ามมิให้รถราแล่นถึงประตูจื้อเหมิน(ประตูกลางของราชสำนัก) เมื่อไทจือมาถึงขณะนั้นฝนตกหนัก ลานกว้างเจิ่งนองด้วยน้ำ ไทจือจึงสั่งให้ขับรถตรงไป ถิงหลี่(คนเฝ้าประตูและดูแลวังชั้นนอก)ที่เฝ้าประตูออกมาทัดทาน ไทจืออ้างว่าพระบิดาเบิกตัวเข้าเฝ้า ไม่อาจรอจนน้ำลดค่อยเข้าวังได้ จากนั้นสั่งให้คนขับเร่งม้าเทียมรถ ถิงหลี่จึงใช้หอกยาวกระแทกม้าล้มลง ฟันไม้เทียมรถหักสะบั้น สังหารคนขับรถฐานบุกรุก ไทจือนำความไปฟ้องร้องพระบิดา ขอให้พระบิดาสำเร็จโทษถิงหลี่ ฉู่จวงอ๋องกลับรับสั่งว่าถิงหลี่ทำตามตัวบทกฎหมายพึงปูนบำเหน็จรางวัลโดย เลื่อนตำแหน่งถิงหลี่คนนั้น 2 ขั้น แล้วสั่งให้เปิดประตูหลังของวังให้ไทจือออกไปพร้อมกำชับมิให้บุกรุกประตู จื้อเหมินอีก”

เมื่อทุกคน ล้วนอยู่ใต้กฎหมาย ไทจือกระทำผิดกฎหมายคนเฝ้าประตูสามารถลงโทษได้ดุจเดียวกัน เพราะความเด็ดขาดของฉู่จวงอ๋องเช่นนี้เองที่ทำให้พระองค์เป็น 1 ใน 5 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิว หลังยุคชุนชิวระบบศักดินาเริ่มสั่นคลอน กฎหมายได้รับการแก้ไขปรับปรุง รัฐจิ่นหลอมกระถางลงทัณฑ์ หลี่ขุยเสนาบดีรัฐวุ่ยตราหนังสือกฎหมาย ซางเอียงแห่งรัฐฉินปฏิรูปกฎหมาย ล้วนเป็นการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ในขณะนั้น หานเฟยเท้าความว่า ก่วนจ้ง มหาเสนาบดีรัฐฉีซึ่งช่วยเหลือฉีหวนกงทำนุบำรุงรัฐฉีจนกลายเป็นรัฐเข้มแข็ง บันทึกข้อความในหนังสือก่วนจื้อว่า

“คำ ที่กล่าวในห้องหับผู้คนทั่วทั้งห้องล้วนได้ยิน คำที่เปล่งในที่ประชุมใหญ่ผู้คนในที่ประชุมใหญ่ล้วนได้ยิน เช่นนี้จึงเป็นเจ้าแห่งรัฐผู้เปรื่องปราด” ดังนั้นกฎหมายจึงต้องรวบรวมเรียบเรียงจัดพิมพ์เผยแพร่ประกาศไปทั่วแผ่นดิน อย่างนั้นมิเพียงแต่ผู้คนในห้องหับหรือในที่ประชุมใหญ่ล้วนได้ยิน แม้แต่ประชาชนทั้งแผ่นดินก็ไม่มีผู้ใดที่ไม่ได้ยิน

หานเฟยบันทึกเรื่องราวของจิ่นเหวินกงแห่งรัฐจิ่น 1 ใน 5 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิวเอาไว้ดังนี้

จิ่น เหวินกงสอบถามหูเอี่ยนว่า “ข้าคิดแจกจ่ายสุราและเนื้อแก่เหล่าขุนนางคงเหลือสุราจอกหนึ่ง เนื้อถาดหนึ่งสำหรับรับประทานเอง ข้าล้มวัวตัวหนึ่งจะแจกจ่ายแก่ราษฎร นางสนมกำนัลตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นมาก็ยกให้แก่บุตรหลานทหารในกองทัพ เช่นนี้สามารถใช้สอยราษฎรทำศึกเพื่อข้าหรือไม่ ?” หูเอี่ยนตอบว่ายังไม่เพียงพอ

จิ่นเหวินกงรับสั่งว่า “ข้าจะลดหย่อนภาษีตามเมืองใหญ่และหน้าด่านสำคัญและลดบทลงโทษ มีส่วนช่วยให้ราษฎรยอมรับคำบัญชารบทัพจับศึกเพื่อข้าหรือไม่ ?” หูเอี่ยนตอบว่ายังไม่พอ

จิ่นเหวินกงรับสั่งอีกว่า “ราษฎรใดจัดพิธีศพ ข้าส่งคนไปไว้อาลับ ผู้ใดกระทำผิดข้านิรโทษให้ คนยากไร้ไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ข้าช่วยเหลือเจือจาน เช่นนี้สามารถใช้สอยราษฎรออกรบเพื่อข้าหรือไม่ ?” หูเอี่ยนตอบว่า “ไม่ได้ ด้วยวิธีการของท่านช่วยให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บัดนี้คิดใช้สอยพวกเขาออกรบเป็นเรื่องเสี่ยงภยันตรายพวกเขาจึงไม่ยอมเสียสละ เพื่อท่าน”

จิ่นเหวินกงสอบถามว่า “ทำอย่างไรจึงใช้สอยราษฎรออกศึกได้” หูเอี่ยนกล่าวว่า “ต้องทำให้พวกเขายินดีออกศึกเพื่อท่านโดยปูนบำเหน็จรางวัลจริงและลงโทษทัณฑ์ อย่างจริงจัง”

จิ่นเหวินกงถามว่า “บทลงโทษถึงขีดสุดควรเป็นอย่างไร ?” หูเอี่ยนตอบว่า “กฎหมายต้องเที่ยงธรรม ต่อให้ญาติสนิทหรือคนที่ท่านโปรดปรานหากทำผิดกฎหมายก็ต้องลงโทษตาม โทษานุโทษ”

วันรุ่งขึ้นจิ่นเหวินกงมีคำสั่งเรียก ประชุมยามเที่ยง ผู้ใดมาสายต้องถูกลงโทษตามวินัยทหาร ปรากฏว่ามีบุคคลที่จิ่นเหวินกงทรงโปรดปรานชื่อเอี๋ยนแสมาสาย เจ้าหน้าที่ๆรับผิดชอบเรียกร้องให้ลงโทษตามกฎ จิ่นเหวินกงต้องหลั่งน้ำตาแต่ในที่สุดเอี๋ยนแสถูกประหารโดยฟันหว่างเอวขาด เป็น 2 ท่อน

นับแต่นั้นเป็นต้นมาทุกคนเคารพเชื่อฟัง คำสั่งของจิ่นเหวินกงโดยเคร่งครัด จิ่นเหวินกงจึงกะเกณฑ์ไพร่พลออกศึกโดยบุกตีเมืองหยวนเฉิง ยกทัพบุกรัฐเว่ย จากนั้นเคลื่อนทัพโจมตีรัฐเฉา ต่อมาบุกรัฐเจิ้น และคลายวงล้อมให้แก่รัฐซ้อง หันไปทำสงครามเอาชนะรัฐฉู่ คอยบูรณะราชวงศ์โจว อันเชิญกษัตริโจวกลับมาประทับ แล้วบรรลุข้อตกลงกับเจิ้นป๋อ มอบเชลยชาวฉู่แก่กษัตริย์โจว กล่าวโดยสรุปคือจิ่นเหวินกงกระทำการสำเร็จติดต่อกัน 8 ประการสาเหตุเนื่องจากทำตามข้อเสนอของหูเอี่ยนรักษาตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัด

หานเฟยบันทึกเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในแคว้นลู่เนื่องจากพรานจุดไฟเผาป่าเพื่อล่าสัตว์จนลุกลามเกือบถึงนครหลวงเอาไว้ว่า

ชาว ลู่จุดไฟเผาป่าประจวบกับเกิดลมเหนือพัดแรง อัคคีเพลิงลามลงสู่ใต้จนสุดวิสัยที่จะควบคุมได้ เห็นว่าใกล้ลามถึงนครหลวงเจ้ารัฐลู่คือลู่ไอกงทรงนำผู้คนออกดับเพลิง เมื่อถึงที่เกิดเพลิงไหม้ผู้คนรอบข้างล้วนหนีหายไปล่าสัตว์เป็นที่สนุกสนาน อัคคีเพลิงก็ลุกลามจนแทบไม่อาจดับได้พระองค์จึงสอบถามปราชญ์ขงจื้อว่ามีวิธี แก้ปัญหาหรือไม่

ขงจื้อกล่าวว่า “ผู้ที่ล่าสัตว์ได้รับความสนุกสนานแต่ไม่มีบทลงโทษ คนดับเพลิงเหนื่อยยากแสนลำบากแต่ไม่ได้รับรางวัล นี่คือสาเหตุที่ไม่อาจดับเพลิงได้” ลู่ไอกงทรงเห็นด้วย

ขงจื้อ กล่าวอีกว่า”ด้วยเหตุการณ์คับขันไม่ทันประกาศให้รางวัล ขอให้พระองค์ทรงใช้อำนาจโดยเด็ดขาด ประกาศว่าผู้ใดไม่ดับไฟจะลงโทษเท่ากับผู้ที่สวามิภักดิ์ต่อข้าศึก คนที่ล่าสัตว์ป่าจะรับโทษดุจเดียวกับขโมยล่าสัตว์ในเขตหวงห้าม” ลู่ไอกงออกคำสั่งตามนั้น ปรากฏว่าคำสั่งไม่ทันกระจายไปทุกเขตแคว้นอัคคีเพลิงที่ไหม้ลุกลามก็ถูกสกัด ดับลงแล้ว

หานเฟยยังเสนอให้ใช้บทลงโทษสถานหนักเพื่อผู้คนบังเกิดความเข็ดหลาบโดยยกตัวอย่างในสมัยราชวงศ์ซางว่า

“คน โบราณตัดไม้ฟืนหุงข้าว หากเหลือเป็นเถ้าถ่านหรือยังมีสะเก็ดไฟจะทิ้งขว้างบนถนนตามอำเภอใจ ฉะนั้นราชวงศ์ซางตรากฎว่าผู้ใดทิ้งสะเก็ดไฟเถ้าถ่านอยู่บนทางหลวงที่ผู้คน ใช้สัญจรไปมาต้องถูกตัดมือทิ้ง” จื้อกงศิษย์ของขงจื้อเห็นว่าบทลงโทษนี้รุนแรงไปจึงเรียนถามอาจารย์ว่าเหตุใด คนโบราณจึงโหดร้ายถึงเพียงนี้ ? ขงจื้ออธิบายว่า “หากทิ้งสะเก็ดไฟเถ้าถ่านบนถนนผู้คนที่เดินเท้าเปล่าหรือใส่รองเท้าหญ้าอาจ เหยียบถูก หาไม่เถ้าถ่านสะเก็ดไฟฟุ้งกระจายเข้าตาคนๆสัญจรไปมาต้องโกรธแค้นเป็นเหตุให้ ลงไม้ลงมือหรืออาจเป็นการลุกลามขยายเป็นการตะลุมบอนระหว่างครอบครัวใหญ่กับ ครอบครัวใหญ่อย่างนั้นจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต การลงโทษด้วยการตัดมือคนทิ้งเถ้าถ่านจึงควรแก่โทษานุโทษ อีกประการ บทลงโทษที่รุนแรงเป็นที่รังเกียจของผู้คน การไม่ทิ้งขว้างเถ้าถ่านกระทำได้โดยง่าย หากออกกฎให้ผู้คนกระทำเรื่องราวที่ทำได้โดยง่ายป้องกันมิให้รับบทลงโทษอัน รุนแรงจึงเป็นหลักการปกครองคนหมู่มาก”

ซาง เอียงเน้นตัวบท เซินปู้ไฮ่เน้นวิธีการ หานเฟยเห็นว่าเจ้าแห่งรัฐควรผสมผสานตัวบทกับการบังคับใช้กฎหมายเข้าด้วยกัน ทางหนึ่งประกาศใช้กฎหมายให้ขุนนางและราษฎรถือปฏิบัติ อีกทางหนึ่งใช้วิจารณญานบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมขุนนางอำมาตย์ด้วยการ แต่งตั้งถอดถอน ติดตามตรวจสอบปูนบำเหน็จลงโทษขุนนางเพื่อให้บ้านเมืองสงบร่มเย็นเป็นสุข การปกครองไม่วิปริตผิดแปร

จ้าว ฟู่ซึ่งเป็นต้นตระกูลจ้าว เป็นสารถีมือดีที่เคยขับรถให้โจวมู่อ๋องแห่งราชวงศ์โจว ต่อมาฉีเอี่ยนอ๋องเอาใจออกห่าง โจวมู่อ๋องบัญชาให้จ้าวฟู่ขับรถวันละพันลี้ยกทัพไปปราบฉีเอี่ยนอ๋อง จากนั้นยกเมืองจ้าวเฉิงแก่จ้าวฟู่

วันหนึ่งขณะที่ จ้าวฟู่กำลังดายหญ้าอยู่ในท้องนาก็พบเห็นพ่อลูกคู่หนึ่งโดยสารรถเทียมม้า เดินทางผ่านไป ม้าได้รับความแตกตื่นไม่ยอมมุ่งหน้าต่อไป ผู้เป็นบุตรชายลงจากรถม้ามาจูงม้า ฝ่ายบิดาลงมาผลักดันรถ แต่ก็ยังไม่เป็นผลจึงหันมาขอความช่วยเหลือจากจ้าวฟู่ จ้าวฟู่บอกให้ทั้ง 2 พ่อลูกกลับขึ้นรถตัวเองตรวจสอบสายบังเหียนม้า หยิบแส้ม้าขึ้น ยังไม่ทันใช้ออก ม้าเทียมรถก็วิ่งเหยาะย่างไป

“ทั้ง หมดนี้สืบเนื่องจากจ้าวฟู่ล่วงรู้วิธีการบังคับม้าและขับรถ บ้านเมืองเปรียบเสมือนรถของเจ้าชีวิต อำนาจเปรียบเสมือนม้าของเจ้าชีวิต หากแม้นมีกลวิธีในการปกครองบ้านเมืองที่ดีเจ้าชีวิตก็สามารถปกครองบ้านเมือง ให้สงบร่มเย็นเป็นสุขได้”

การ ปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็นเป็นสุขนั้นเจ้าชีวิตไม่จำเป็นต้องดู รู้ทุกรายละเอียด หากแต่ทรงแต่งตั้งขุนนางที่ไว้วางพระทัย มอบหมายให้เป็นหูเป็นตาแทนพระองค์

เถียน อิง มหาเสนาบดีแห่งรัฐฉี บิดาของเมิ่งฉานจวินเถียนเหวิน มหาเสนาบดีสมัยฉีเซวียนอ๋อง ครั้งหนึ่งมีคนมากราบทูลเจ้ารัฐฉีว่ารายรับรายจ่ายประจำปีของแว่นแคว้นมี ความสำคัญยิ่ง หากเจ้ารัฐฉีไม่เสียเวลาสักหลายวันสดับตรับฟังก็ไม่อาจล่วงรู้ถึงความดีเลว ของขุนนาง เมื่อเถียนอิงทราบว่าเจ้ารัฐฉีมีพระประสงค์เช่นนี้จึงทูลเชิญเจ้าแห่งรัฐ ฉีสดับฟังคำรายงาน หลังจากนั้นเถียนอิงก็สั่งให้ขุนนางจัดเตรียมแผ่นไม้ไผ่ที่บันทึกข้อความ ตลอดจนเครื่องชั่งตวงวัดต่างๆมา ฉีอ๋องทรงสดับตรับฟังรายงานอย่างยืดยาว หลังจากเสวยพระกระยาหารเช้าแล้วก็ต้องตั้งพระทัยนั่งฟังต่อจนถึงเวลาเสวยพระ กระยาหารค่ำ เถียนอิงกราบทูบว่า “รายงานต่างๆเหล่านี้เป็นข้าพระองค์และพวกทำงานหามรุ่งหามค่ำเป็นแรมปี หากพระองค์สามารถรับฟังตลอดคืนจะเสริมสร้างกำลังใจแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย อย่างมาก” เจ้ารัฐฉีตอบตกลงแต่แล้วทรงเหน็ดเหนื่อยจนบรรทมไปเหล่าขุนนางจึงนำมีดมาขูด ลบตัวเลขบนแผ่นไม้ทิ้ง เมื่อเจ้ารัฐฉีทรงสดับตรับฟังจนจบกลับสับสนมืนงงขึ้นมา

หาน เฟยนั้นเสนอหลักการ “ไร้ซึ่งการกระทำ” เป็นกลวิธีชนิดหนึ่งในการปกครองของเจ้าแห่งรัฐ ให้เจ้าชีวิตทำตัวเสมือนว่างเปล่า ทั้งไม่มีการกระทำและไม่มีการแสดงออก เมื่อเป็นอย่างนี้เหล่าขุนนางจะเกิดความระมัดระวัง ปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดเอง

ฉี เซวียนอ๋องตรัสถามถึงเคล็ดลับสำคัญของวิชาอี้เซ่อ(การยิงธนูที่มีเชือกผูก ติดอยู่สำหรับยิงทวิชาติ)จากถังอี้จื่อ ถังจี้จื่อกราบทูลว่า “ประการสำคัญต้องซ่อนตัวเองให้มิดชิดด้วยนกกามีตาหลายสิบข้างจ้องมองคน แต่คนมีเพียง 2 ตาสำรวจดูนก ไหนเลยไม่ซ่อนตัวเองให้มิดชิดได้”

ฉี เซวียนอ๋องจึงตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นเจ้าแห่งรัฐจะปกครองแว่นแคว้นอย่างไร เจ้าแห่งรัฐก็มีดวงตา 2 ข้างติดตามดูผู้คนทั้งแผ่นดิน หากทว่าทั้งแผ่นดินมีดวงตานับหมื่นคู่เฝ้ามองเจ้าแห่งรัฐ เจ้าแห่งรัฐซ่อนตัวเองอย่างไร?”

ถังอี้จื่อกราบทูล ว่า “ผู้อาวุโสแห่งรัฐเจิ้นเคยกล่าวไว้ให้ว่างเปล่า ไร้ซึ่งการกระทำ กล่าวคือไม่มีการกระทำและไม่มีการแสดงออกก็จะซ่อนตัวเองไว้ได้”

ส่วนการให้รางวัลและการลงโทษนั้นหานเฟยเสนอให้เป็นสิทธิ์ขาดของเจ้าชีวิตโดยยกตัวอย่างเปรียบเปรยว่า

“เสือ อาศัยเขี้ยวและกรงเล็บพิชิตสุนัข หากเสือถอดเขี้ยวเล็บให้แก่สุนัขกลับถูกสุนัขกำราบแทน เมื่ออดีตเถียนฉางแห่งรัฐฉีเรียกร้องให้ฉีเจี่ยนกงเพิ่มยศตำแหน่งและเบี้ย หวัดเงินเดือนแก่ขุนนาง ขอเพิ่มขนาดของเครื่องตวง เพิ่มปริมาณเสบียงอาหารที่แจกจ่ายแก่ราษฎร ซึ่งเป็นเหตุให้ฉีเจี่ยนกงสูญเสียอำนาจ สุดท้ายแล้วฉีเจี่ยนกงก็ถูกเถียนฉางปลงพระชนม์”

“ขุน นางรัฐซ้องนามจื่อหันกราบทูลต่อเจ้ารัฐซ้องว่า ‘ราษฎรนิยมยินดีที่ได้รับรางวัล ขอพระองค์ปูนบำเหน็จให้เอง ผู้คนตั้งข้อรังเกียจบทลงโทษทัณฑ์ ขอให้ข้าพระองค์รับผิดชอบเอง’ เจ้ารัฐซ้องจึงทรงมอบอำนาจสิทธิ์ขาดในการลงโทษแก่จื่อหัน สุดท้ายเจ้ารัฐซ้องก็ถูกจื่อหันควบคุมตัวไว้ สูญเสียอิสรภาพไป”

“ครั้ง หนึ่ง หานเจาโหว เจ้ารัฐหาน ทรงเสวยน้ำจัณฑ์จนมึนเมาเคลิบเคลิ้มบรรทมไปทั้งที่ยังฉลองพระภูษาชุดเดิม ผู้ดูแลพระมาลาเห็นเช่นนั้นเกรงว่าพระองค์จะถูกความเย็นเข้าแทรกซึมจึงหยิบ พระภูษาคลุมลงบนพระวรกาย เมื่อหานเจาโหวตื่นจากบรรทมทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นจึงตรัสถามว่าผู้ใดคลุม พระภูษาให้ คนใกล้ชิดกราบทูลว่าเป็นผู้ดูแลพระมาลา หานเจาโหวจึงลงโทษผู้ดูแลพระมาลากับผู้ดูแลพระภูษาทั้ง 2 คนด้วยผู้ดูแลพระภูษาละเลยหน้าที่การงาน ส่วนผู้ดูแลพระมาลากระทำเกินหน้าที่”

“เอ่อเซวีย นักโต้วาทีของรัฐซ้องเสนอแนวความคิดที่ว่า ‘ม้าขาวมิใช่ม้า'(เป็นประเด็นที่ กงซุนหลง นักโต้วาทีแคว้นจ้าวนำเสนอ แล้วเอ่อเซวียมีแนวความคิดตรงกัน) มีวาทศิลป์เป็นเลิศซึ่งฝีปากกล้าถึงขั้นที่สำนักจี้เสียยังต้องพ่าย แพ้(สำนักวิชาการในรัฐฉีที่ฉีเซวียนอ๋องตั้งขึ้นให้เป็นที่อยู่ของเหล่าขุน นางนักวิชาการตำแหน่ง ต้าฟู อยู่ที่เชิงเขาไว้เสียซานนอกประตูเมืองเสียเหมิน) ครั้งหนึ่งเอ่อเซวียขี่ม้าขาวตัวหนึ่งผ่านด่านตรวจ ตามกฎหมายบ้านเมืองผู้ขับขี่พาหนะต้องเสียภาษีจึงจะผ่านด่านได้ เอ่อเซวียได้แต่จ่ายค่าภาษีไม่อาจโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจว่าม้าขาวมิ ใช่ม้าได้”

ใช้คนต้องดูความสามารถ คัดกรองอย่าให้มีเหลือบไรแฝงฝังเข้ามาได้

“ฉี เซวียนอ๋องทรงโปรดการเป่าขลุ่ยแคน มักจัดให้ผู้คน 300 คนเป่าบรรเลงร่วมกัน หนานหว๋อร้องขอเข้าร่วมขณะด้วย ฉีเซวียนอ๋องทรงอนุญาต ไม่นานให้หลัง ผู้คนที่เป่าขลุ่ยเพิ่มจำนวนเป็นหลายร้อยคนจวบกระทั่งฉีเซวียนอ๋องเสด็จ สวรรคต ฉีหมิ่นอ๋องขึ้นครองราชย์สืบแทนพระองค์โปรดปรานให้นักดนตรีออกมาเป่าขลุ่ย แคนทีละคน หนานกว๋อไม่มีความรู้ด้านการเป่าขลุ่ยแคนจึงหาโอกาสหลบหนีไป”

อำนาจ

อำนาจ เป็นเครื่องมือที่เจ้าชีวิตใช้ในการปกครองบ้านเมืองและควบคุมขุนนาง เจ้าชีวิตสิ้นอำนาจสูญเสียทั้งบ้านเมืองและชีวิต ฉะนั้นเจ้าชีวิตต้องกุมอำนาจไว้อย่าได้ถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้อื่นโดยง่าย

หลัก การใช้อำนาจของหานเฟยมี 4 ประการคือ 1) ต้องมีการทดสอบความรู้ความสามารถของขุนนาง แล้วใช้คนที่ได้ผ่านการคัดกรองมาแล้วนั้นให้เหมาะสมกับแขนงวิชา ระดับความรู้ความสามารถของแต่ละคน 2) ยึดมั่นในหลักการปูนบำเหน็จและการลงโทษ 3) ติดตาม ตรวจสอบผลการทำงานของขุนนาง ว่าปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ-ล้มเหลวมากน้อยแค่ไหนอย่างไร 4) รักษาไว้ซึ่งอำนาจ สิทธิ์ขาดในการบริหารบ้านเมืองไว้ในมือเจ้าชีวิต

“ม้า ที่สามารถบรรทุกของหนัก นำผู้คนไปถึงดินแดนอันไกลโพ้นได้ล้วนพึ่งพาพละกำลังของมัน เช่นเดียวกับเจ้าชีวิตที่ครอบครองรถม้าศึกนับพันนับหมื่น สิ่งที่พระองค์ใช้ในการปกครองแผ่นดินและสั่งการต่อผู้ครองแคว้นต่างๆคือ อำนาจๆจึงเปรียบเหมือนพละกำลังของเจ้าชีวิต บัดนี้เหล่าขุนนางรวบอำนาจไว้ในมือเท่ากับเจ้าชีวิตสูญเสียพละกำลังไป เจ้าชีวิตที่สูญเสียพละกำลังยังสามารถครองแผ่นดินอยู่ได้นั้นในจำนวนพันยาก จะพบสักองค์เดียว”

“ปลาต้องอาศัยในห้วงน้ำลึก เจ้าชีวิตต้องพึ่งพาอำนาจๆคือห้วงน้ำลึกของเจ้าชีวิต หากเจ้าชีวิตปล่อยให้ขุนนางช่วงชิงอำนาจไป อำนาจจะไม่ได้กลับคืนมาอีก เจ้ารัฐจิ่นพระนามจิ่นฉิ่งกงปล่อยให้อำนาจตกอยู่ในมือขุนนางตระกูลจ้าว วุ่ย หาน ฟั่น จงสิง และจื้อ สุดท้ายรัฐจิ่นล่มสลาย เจ้าแห่งรัฐถูกสำเร็จโทษ”

“มังกร บินดั้นเมฆกลางเวหา งูยักษ์เคลื่อนไหวอยู่กลางสายหมอก ยามใดที่เมฆสลายหมอกจางหาย มังกรกับงูยักษ์จะแปรสภาพเป็นไส้เดือนและมด สาเหตุเป็นเพราะสูญเสียสิ่งที่ยึดเหนี่ยวไป ผู้เปรื่องปราดที่ถูกคนบาปหยาบช้ากดขี่ไว้ด้วยผู้เปรื่องปราดไร้อำนาจ มีฐานะต่ำต้อย ระหว่างที่เหยายังเป็นสามัญชนปกครองชนชั้นทาสพวกเขาล้วนไม่เชื่อฟัง รอจนเหยาครองแผ่นดินเมื่อออกคำสั่งราษฎรล้วนปฏิบัติตาม พอกำหนดข้อห้ามทุกคนต่างหยุดการกระทำ จากข้อนี้แสดงว่าจริยะและภูมิปัญญาไม่เพียงพอกับการสะกดมวลชน หากแต่ตำแหน่งและอำนาจสามารถควบคุมแม้กระทั่งผู้เปรื่องปราด”

ฝ่าย หยูหรือสำนักบัณฑิตโต้แย้งแนวคิดของหานเฟยว่า อำนาจแม้มีความสำคัญหากทว่าสมควรให้ปราชญ์บัณฑิตใช้อำนาจ หาไม่แล้วจะเกิดความวุ่นวาย แม้นว่าอำนาจจะตกอยู่ในมือคนบาปหยาบช้าก็จะมีสภาพเฉกเช่นเสือติดปีก หานเฟยหักล้างว่า

“มี คนผู้หนึ่งขายหอกและโล่ อวดโอ่ว่าโล่ของเขาแข็งแกร่งอย่างที่ไม่มีสิ่งใดทะลวงทะลุได้ ต่อจากนั้นหันไปโอ้อวดว่าหอกของเขาแหลมคมอย่างยิ่ง สามารถแทงทะลุได้ทุกสิ่ง ฉะนั้นมีคนถามว่า ‘หากนำหอกของท่านแทงโล่ของท่านจะเป็นเช่นไร’ ปรากฏว่าคนขายหอกและโล่ไม่สามารถตอบได้ เช่นเดียวกับข้อเสนอให้ปราชญ์บัณฑิตใช้อำนาจ ด้วยปราชญ์บัณฑิตเน้นที่จริยคุณธรรม อำนาจกลับเป็นวิธีการควบคุมบังคับ โดยหลักเหตุผลแล้วไม่สามารถดำรงคงอยู่คู่กันได้”

การให้บำเหน็จรางวัล

การปูนบำเหน็จตั้งรางวัลนั้นส่งผลต่อขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง

“เจ้า รัฐเวี่ย โกวเจี้ยน ทอดพระเนตรอึ่งอ่างพองตัวจนมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมากมายก็แสดงความเคารพต่อมัน คนขับรถจึงทูลถามว่า ‘เหตุใดพระองค์แสดงความเคารพต่อมัน ?’ โกวเจี้ยนตรัสว่า ‘อึ่งอ่างสามารถพองตัวถึงเพียงนี้จะให้ข้าไม่เคารพต่อมันได้อย่างไร’ คนขับรถจึงกล่าวว่า’อึ่งอ่างพองตัวพระองค์ยังให้ความเคารพต่อมัน อย่างนั้นหากปรากฏวีรชนที่หาญกล้าพระองค์คงให้การยกย่อมกว่าเดิม’ เมื่อข่าวคราวเรื่องนี้แพร่สะพัดออกไป ในปีนั้นมีชาวเวี่ยคนหนึ่งเชือดคอตายสั่งเสียให้คนในครอบครัวนำศรีษะของเขา มาถวายต่อโกวเจี้ยนเพื่อยืนยันว่าตนไม่กลัวตาย โกวเจี้ยนนั้นเคยพ่ายแพ้สงครามแก่หวูฟูซา เจ้ารัฐหวูมาก่อน ต่อมานอนเตียงฟืนแข็งกระด้าง ใช้ลิ้นเลียดีขมฝาดเพื่อคอยเตือนสติพระองค์อย่าได้ลืมเลือนความแค้นในครั้ง นั้นไป เมื่อเพาะสร้างกำลังจนเข้มแข็งจึงคิดทดสอบความกล้าของไพร่พลโดยสั่งให้เผ่า แท่นยกพื้นสูง จากนั้นรัวเภรีด้วยพระองค์เอง สั่งให้ทหารบุกเข้ากองไฟ ผู้ใดทำได้จะปูนบำเหน็จรางวัล ปรากฎว่ามีทหารหาญกระโจนเข้ากองไฟเสียชีวิตไปร้อยกว่านาย โกวเจี้ยนพอพระทัยยิ่งค่อยหยุดรัวเภรี ให้ทหารที่เหลือหยุดการคืบหน้า หลังจากนั้นยังทดสอบความกล้าหาญของไพร่พลโดยหันหน้าหาแม่น้ำใหญ่ รัวเภรีให้ทั้งหมดกระโดดน้ำ ผู้ใดทำได้จะได้รับรางวัลอย่างงาม เหล่าทหารก็ลุยน้ำโดยไม่กลัวตาย ครั้นเมื่อเข้าสู่สมรภูมิเหล่าทแกล้วทหารกล้าแม้ถูกตัดศรีษะ ผ่าท้อง ที่เหลือยังบุกตะลุยไปข้างหน้าด้วยความคิดว่าผู้หาญกล้าจะได้รับการปูน บำเหน็จรางวัล ดังนั้นจึงเป็นที่มาของสุภาษิตจีนที่ว่า ‘แม้นบุกน้ำลุยไฟไม่ขอบิดพลิ้วบ่ายเบี่ยง'”

การลงโทษ

น้ำ ไฟล้วนโหดร้ายแต่ลักษณะของน้ำกับไฟให้ความรู้สึกที่แตกต่างด้วยไฟดุร้าย รุนแรงผู้คนจึงเกิดความตื่นตัว น้อยคนที่จะถูกลวกทำร้าย ส่วนน้ำใสไหลเย็นผู้คนมักชะล่าใจจนประสบอุบัติเหตุจมน้ำตาย ผู้ปกครองต้องสร้างอำนาจบารมีให้ราษฎรบังเกิดความเคารพยำเกรง ไม่กล้าทำผิดกฎหมาย หากมีผู้กระทำผิดก็ต้องลงโทษโดยเฉียบขาด ไม่มีแว่นแคว้นใดที่เข้มแข็งตลอดกาล หรืออ่อนแอตลอดศก ผู้ที่รักษากฎหมายโดยเคร่งครัดจักเข้มแข็ง ผู้ใดปล่อยให้กฎหมายหย่อนยานต้องอ่อนแอ หานเฟยเปรียบเทียบให้ฟังว่า

“ตอน ที่จื่อฉั่นมหาเสนาบดีรัฐเจิ้นกำลังป่วยหนักใกล้ตายได้สั่งเสียต่อขุนนาง ชื่อ อิ๋วจิ ว่า ‘เมื่อข้าตายแล้วท่านต้องดูแลรัฐเจิ้นสืบแทน พึ่งใช้อำนาจปกครองราษฎรด้วยไฟมีลักษณะดุร้ายน่าเกรงขามฉะนั้นน้อยคนจะถูกไฟ ลวกทำร้าย ขณะที่น้ำมีลักษณะอ่อนโยนละมุนละไมฉะนั้นผู้คนมักจมน้ำตาย ท่านจักต้องสร้างลักษณะตัวเองให้ดุร้ายน่าเกรงขาม อย่าได้ทำตัวอ่อนโยนละมุนละไมเป็นเหตุให้ราษฎรทำผิดกฎหมายโดยง่าย’ หลังจากจื่อฉั่นเสียชีวิต อิ๋วจิไม่ต้องการสร้างภาพลักษณ์อันดุร้ายน่าเกรงขาม ปรากฏว่าชายฉกรรจ์ในรัฐเจิ้นสุมหัวเป็นโจร ซ่อมสุมกำลังที่บึงใหญ่เตรียมก่อหวอด อิ๋วจิต้องยกกำลังไปปราบปราม สู้รบกันหนึ่งวันหนึ่งคืนจึงปราบกบฎได้สำเร็จ อิ๋วจิจึงนึกเสียใจที่ไม่ทำตามคำแนะนำของจื่อฉั่นตั้งแต่แรก”

ใส่ความเห็น

สร้างเว็บไซต์หรือบล็อกฟรีที่ WordPress.com.

Up ↑